งานดนตรีบำบัด


งานดนตรีบำบัด สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ 2552 และจัดตั้งเป็นหน่วยงานอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน พ.ศ 2558 เป็นหน่วยบริการที่เน้นการพัฒนารูปแบบ (Model development) การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยการผสมผสานระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยกิจกรรมบำบัดและกายภาพบำบัด ร่วมกับการใช้ศาสตร์ทางด้านดนตรีบำบัด ซึ่งอาศัยองค์ประกอบต่างๆทางดนตรีตามหลักการของดนตรีบำบัดที่เป็นสากล ผ่านกิจกรรมทางดนตรีที่มีเป้าหมาย เช่น การร้อง การฟัง การเล่นเครื่องดนตรี และการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะ โดยมุ่งเน้นผลทางด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม การสื่อสาร การเรียนรู้ การรับรู้ ความคิด และความจำ
หน่วยงานให้ความสำคัญกับการศึกษารูปแบบการใช้ดนตรีบำบัดแบบสากลมาจัดทำเป็นแนวทางในการพัฒนาการให้บริการ มีการประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาเป็นรูปแบบการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมกับบริบท วัฒนธรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และผู้รับบริการในประเทศไทย

กลุ่มผู้รับบริการ
1. ผู้รับบริการผู้ใหญ่ ที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ การเข้าสังคม เป็นต้น
2. ผู้รับบริการเด็ก เช่น สมองพิการ ออทิสติก พัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น มีปัญหาด้านพฤติกรรม

ขั้นตอนการรับบริการ
1. ติดต่อพบแพทย์ที่งานบริการผู้ป่วยนอก เพื่อให้แพทย์ตรวจประเมินและสั่งการรักษา
2. ติดต่องานดนตรีบำบัดเพื่อนัดหมายเข้ารับบริการ ที่อาคารกิจกรรมบำบัด ชั้น 2
3. เข้ารับบริการตามวันและเวลาที่นัดหมาย
4. หากต้องการยกเลิกหรือเลื่อนนัด โปรดแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วันทำการ
5. หากขาดการรักษาติดต่อกันโดยไม่แจ้งให้ทราบเกิน 1 เดือน ต้องติดต่อพบแพทย์เพื่อประเมินความพร้อมในการฝึกและสั่งการรักษาใหม่

บริการของเรา


ดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้ใหญ่

ดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้ใหญ่ เป็นการบำบัดที่ใช้องค์ประกอบทางด้านดนตรีได้แก่ การร้อง การฟัง การเคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะ และการเล่นเครื่องดนตรี ร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยสนใจและให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูสมรรถภาพมากขึ้น โดยเน้นผลลัพธ์ทางด้านกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดเป็นหลัก
โดยแบ่งประเภทการให้บริการ เป็น ๒ ประเภท คือ
1. ดนตรีบำบัดแบบเดี่ยวในผู้ใหญ่
ตัวอย่างกิจกรรมดนตรีบำบัดแบบเดี่ยว
• กิจกรรมร้องเพลงและเล่นเครื่องดนตรี เช่น กีต้าร์ กลอง และเครื่องเคาะแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มทักษะด้านการสื่อสาร ความจำ และทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือและแขน
• กิจกรรมเล่นคีบอร์ดตามตัวโน้ตสีต่างๆ เพื่อเพิ่มสมาธิ เพิ่มทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือ การประสานสัมพันธ์การเคลื่อนไหว การจดจำสีและตัวเลข
• กิจกรรมฝึกการทรงตัวและฝึกเดินร่วมกับจังหวะดนตรี เพื่อเพิ่มการทรงตัว ปรับจังหวะการเดิน และปรับท่าทางการยืนและเดินให้ถูกต้อง
• กิจกรรมการเติมเนื้อเพลงและแต่งเพลง เพื่อเพิ่มทักษะทางด้านความคิดความเข้าใจ การอ่านและเขียน เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง กระตุ้นการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึก
2. ดนตรีบำบัดแบบกลุ่มในผู้ใหญ่
ตัวอย่างกิจกรรมดนตรีบำบัดแบบกลุ่ม
• กิจกรรมร้องเพลงแบบกลุ่ม เพื่อกระตุ้นการเข้าสังคม ความจำ และปรับสภาพอารมณ์และจิตใจ
• กิจกรรมเต้นและแสดงท่าทางประกอบจังหวะ เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ การทรงตัว ความจำ
• กิจกรรมเกมส์ดนตรีต่างๆ เช่น บอลร้อน เพื่อกระตุ้นการเข้าสังคม ผ่อนคลายความตึงเครียด เบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บป่วย

ดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพในเด็ก

 ดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพในเด็ก เป็นการใช้กิจกรรมต่างๆทางดนตรี ได้แก่ การร้อง การฟัง การเคลื่อนไหวร่างกายประกอบจังหวะ และการเล่นเครื่องดนตรี ผ่านกิจกรรมการเล่นร่วมกับการสอดแทรกการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆในผู้ป่วยเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย พฤติกรรม อารมณ์ และการเข้าสังคม เป็นการบำบัดรักษาที่ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย สนุกสนาน กระตุ้นปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บำบัดกับเด็ก ซึ่งช่วยส่งเสริมให้การบำบัดฟื้นฟูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยแบ่งประเภทการให้บริการ เป็น ๒ ประเภท คือ
1. ดนตรีบำบัดแบบเดี่ยว
2. ดนตรีบำบัดแบบกลุ่ม

งานดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ
งานดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ