คลินิกกิจกรรมบำบัด


งานกิจกรรมบำบัด สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ให้บริการ ประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้รับบริการ เพื่อให้บุคคลสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพสูงสุดของตนเอง โดยการนำเทคนิค กิจกรรมที่หลากหลาย และอุปกรณ์ที่เหมาะสมรวมไปถึงเทคโนโลยีการฟื้นฟูที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ มาเป็นวิธีการในการให้บริการ โดยให้บริการครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกัน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการให้คำปรึกษา แก่ผู้มารับบริการ ญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างบริการต่าง ๆ ทางกิจกรรมบำบัดมี ดังนี้
1. การฝึกทักษะการทำงานของแขนและมือ (upper extremity and hand function training)
2. การฝึกความสามารถด้านการรับรู้ (perceptual function training)
3. การฝึกความสามารถด้านความคิดความเข้าใจ (cognitive function training)
4. การฝึกทักษะกล้ามเนื้อใบหน้าและช่องปาก (oro-facial motor skill function training)
5. การฝึกการกระตุ้นการดูด การเคี้ยวและการกลืน (feeding & swallowing techniques training)
6. การฝึกทักษะการดูแลตนเองและกิจวัตรประจำวัน (activities of daily living training)
7. การออกแบบ ดัดแปลงและจัดทำอุปกรณ์เครื่องช่วยในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต (assistive & Adaptive devices design and / or fabrication)
8. การออกแบบ ดัดแปลงและจัดทำอุปกรณ์ประคองและอุปกรณ์ดาม (splints and /or fabrication)
9. การฝึกการใช้เครื่องดามแขนและมือ (orthotic upper extremities training)
10. การฝึกการใช้แขนและมือเทียม (prosthetic upper extremities training)
11. แนะนำการออกแบบ ดัดแปลงและปรับปรุงสภาพบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน (home school workplace modification adaptation)
12. การให้คำปรึกษาทางกิจกรรมบำบัด (occupational therapy counseling)

งานกิจกรรมบำบัด แบ่งลักษณะในการให้บริการ ออกเป็น 2 ส่วน
1. คลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดทั่วไป
2. คลินิกพิเศษ
● คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืน
● คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจ
● คลินิกฝึกขับรถยนต์สำหรับผู้พิการ
● คลินิกฝึกทักษะการเคลื่อนไหวแขนและมือ
● คลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบเข้มข้น

กลุ่มผู้รับบริการ
• ผู้ที่มีพยาธิสภาพที่สมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง(stroke) หรือมีอาการบาดเจ็บที่สมอง (traumatic brain injury) ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม (dementia)
• ผู้ที่มีพยาธิสภาพที่ไขสันหลัง (spinal cord injuries)
• ผู้ที่มีความบกพร่องด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจ
• ผู้ที่มีความบกพร่องด้านการดูด การเคี้ยวและการกลืน เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ลิ้น หรือ กล่องเสียง ผู้ป่วยที่มีความ ผิดปกติด้านโครงสร้างของใบหน้าและช่องปาก เช่น ผ่าตัดกล่องเสียง ผ่าตัดลิ้น
• ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บของแขนและมือ (hand injuries)
• ผู้รับบริการที่ผ่านการตัดแขน (upper limb amputation)
• ผู้ป่วยอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน

ข้อควรปฏิบัติก่อนเข้ารับบริการ
1. นำใบนัดมาทุกครั้งและมาก่อนเวลานัดอย่างน้อย 15 นาทีก่อนเข้ารับบริการ
2. ขณะเข้ารับบริการ จำกัดจำนวนญาติหรือผู้ดูแล 1 คน ต่อ ผู้รับบริการ 1 คนเท่านั้น
3. ขอให้ทำการเลื่อนนัดและหยุดพักรักษาอาการให้หายป่วยก่อนมารับบริการ กรณีผู้ป่วยไม่สบายหรือมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก ความดันโลหิตผิดปกติ เป็นต้น
4. แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง หากไม่สามารถเข้ารับบริการตามวันและเวลานัดได้ โดยแจ้งทางโทรศัพท์หรือทาง line official ในเวลาราชการ
5. แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง กรณีก่อนเข้ารับบริการผู้ป่วยมีการบาดเจ็บหรือมีความผิดปกติที่อาจส่งผลต่อการบำบัดฟื้นฟู เช่น หกล้ม ชัก เป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ เพื่อพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินซ้ำก่อนเข้ารับบริการ
6. ให้ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินซ้ำก่อนเข้ารับบริการ กรณีที่ไม่ได้มารับบริการตามนัดเป็นระยะเวลานานเกิน 1 เดือน

ขั้นตอนการรับบริการ
ผู้ป่วยนอก

1.พบแพทย์ที่งานบริการผู้ป่วยนอก เพื่อให้แพทย์สั่งการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด
2. นำเอกสารใบนำทางจากงานบริการผู้ป่วยนอกมาติดต่อ ที่อาคารกิจกรรมบำบัดชั้น 1
3. นัดหมายวัน – เวลารับบริการกับเจ้าหน้าที่ผ่านระบบ HIS
4. รับใบนัดกิจกรรมบำบัด
5. ในวันเข้ารับบริการ ลงทะเบียนที่ตู้อัตโนมัติ (Smart kiosk) ที่งานบริการผู้ป่วยนอก
6. เข้ารับบริการกิจกรรมบำบัด ตามวัน – เวลานัดหมาย
7. หากผู้รับบริการมีความประสงค์เปลี่ยนแปลงนัดหมาย สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ทางโทรศัพท์หรือ
Line official ของงานกิจกรรมบำบัด เพื่อเปลี่ยนวัน – เวลารับบริการของผู้รับบริการ
ผู้ป่วยใน
1. แพทย์เจ้าของไข้ตรวจประเมิน และสั่งการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด
2. พยาบาล/เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยประสานงานกิจกรรมบำบัดเพื่อนัดหมายวัน – เวลารับบริการของ
ผู้รับบริการ
3. ผู้รับบริการมารับบริการที่อาคารกิจกรรมบำบัดชั้น 1 ตามเวลานัดหมาย